แก่นไตรภพ
โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา
ปุจฉาวิสัชนา เรื่องกายและใจ
โอมฺ นม สรฺวพุทฺธโพธิสตฺเตวภฺย
อันขยมบังคมบาท ไตรโลกนาถสัพพัญญู ผู้ตรัสรู้เญยยธรรมนำสัตว์สู่ศิวโมกข์ พ้นจตุรโอฆสงสาร ผลาญเกลศมอดม้วย ด้วยพระธรรมคำสอน ให้อมรพรหมินทร์ เทพเทวินทรสุรารักษ์ สำสิทธิศักดิ์ทิพยกาย ทั้งหญิงชายมนุษย์ ถึงที่สุดศานติบท หมดสมมุติพึงแถลง ใครถึงใครประจักษ์แจ้ง จริงแน่ฤาเสกแสร้งทราบดัวยใจตน เองนา.
หอมสุคนธ์มาเลศเล้า โลมใจ
จวนรุ่งอุทัยไข ขอบฟ้า
ลมโชยยื่นหฤทัย ทวีสุข
สุขเท่าสุขยิ่งหล้า พ่ายแพ้สุขธรรม
พลบค่ำสุริยงเคลื่อนคล้อย ลับแสง
จันทรแจ่มรังสีแสดง เดชกล้า
ลาภยศหมดสิ้นแรง บุญแต่ง
ธรรมพระเจ้าแจ่มจ้า หากให้ใจเกษม
ปรีดิ์เปรมรสยั่วเย้า กามคุณ
ปลื้มจิตฤทธิ์เฉียวฉุน ชั่วครั้ง
ธรรมรสฤทธิ์เจือจุน ยาวยืด
พ้นทุกข์เป็นสุขทั้ง ผ่องแผ้วนิรันดร์
เหมันต์หิมะหยาดย้อย เย็นหนาว
นุ่งห่มสมเหมาะคราว อุ่นได้
คิมหันต์เร่าร้อนราว ระอุพัด หายแห
ทุกข์โศกโรคใจให้ ดับด้วยพระธรรม
กฤษณากระลำพักทั้ง จันทน์หอม
สายหยุดซ่อนกลิ่นพยอม ดกห้อย
ภุมรินทร์ร่อนบินตอม อวลอบ
หอมฤหอมเท่าถ้อย ท่านผู้ปรีชาญาณ
นมสฺตุ รตฺนตฺรยาย สิทฺธิรสฺตุ ศิกฺษิกฺมฺ
เสนมัสการไตรรัตน์ บรรจงจัดแจกไว้
โดยรอบถามตอบให้ บ่รู้รสธรรม
ทองคำน้ำนพเก้า เปรียบฤห่อนจะอคร้าว
เท่าถ้อยอรรถแถลง ผู้ใดแสวงจักได้
แสงสว่างอาโลกให้ อ่านแล้วเพ่งพิจารณ์ เทอญนา
1. ถ. แก่นไตรภพคืออะไร
ต. ใจ
2. ถ. ทำไมจึงว่า ใจ เป็นแก่นไตรภพ
ต. เพราะใจ เป็นศูนย์กลางของสิ่งทั้งปวงในไตรภพ ไม่ว่าสิ่งใดๆ จะปรากฏมี เป็นได้ต้องอาศัยเกิดจากใจ และรู้สึกขึ้นที่ใจ ทั้งหมดสิ้น
3. ถ. สิ่งทั้งปวงเกิดจากใจอย่างไร
ต. เกิดรู้สึกปรากฏขึ้นที่ใจ เป็นอาการสัณฐานต่าง ๆ แล้วสมมุติเรียกกันว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้
4. ถ. สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่รู้สึกปรากฏขึ้นนั้น เป็นเพราะอารมณ์ที่มีอยู่จริง ๆ ต่างหากจากใจ มาสัมผัสเข้ากับใจมิใช่หรือ
ต. ถ้าเชื่อถือความรู้สึกว่าจริงเป็นประมาณแล้วก็ดูเหมือนว่าเป็นจริงเช่นนั้น แต่ว่าสิ่งใด ๆ ที่ไม่ใช่ความรู้สึกเกิดจากใจนั้นไม่มีเลย
5. ถ. ถ้าดังนั้น ร่างกายของเรา และสิ่งทั้งปวงก็หาได้มีจริงต่างหากจากใจไม่ เป็นแต่ความรู้สึกอันเกิดจากใจซึ่งเราบัญญัติเรียกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่นนั่นหรือ
ต. เป็นเช่นนั้น
6. ถ. รู้ได้อย่างไร
ต. รู้ได้โดยตรวจพิจารณาดูร่างกายของเราและสิ่งทั้งปวงจนเห็นว่าเป็นธาตุ แล้วตรวจธาตุต่อ ๆ ไป ก็เห็นว่าเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งแลเห็นด้วยตาไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกได้ว่ามีอยู่ แล้วตรวจต่อไปอีก ก็เห็นว่าธรรมชาตินี้ ก็คือเป็นความรู้สึกที่เกิดจากใจนั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่าสิ่งทั้งปวงย่อมเกิดจากใจ และเป็นความรู้สึกที่ออกไปจากใจทั้งสิ้น
7. ถ. ทำไมสิ่งทั้งปวงจึงเกิดจากใจดังเช่นว่านี้
ต. เพราะอวิชชาหรือความไม่รู้ธรรมดาที่จริงเป็นเหตุบ้าง เกิดขึ้นเองโดยธรรมดานิยมบ้าง
8. ถ. อวิชชาเป็นเหตุอย่างไร
ต. เป็นเหตุให้คิดเห็นไปต่าง ๆ ผิดจากธรรมดาที่เป็นจริง จึงบังเกิดเป็นสิ่งทั้งปวงขึ้นจากใจพอเหมาะกับความคิดเห็นที่เนื่องมาแต่อวิชชา
9. ถ. ใจอะไรเป็นที่เกิดสิ่งทั้งปวง
ต. ใจที่มีอยู่แก่สัตว์ทั่งไป ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์
10. ถ. ใจนั้นมีอาการเป็นอย่างไร
ต. อาการไม่ปรากฏ เป็นแต่รู้อยู่ด้วยกันว่า ใจมีอยู่เพราะนามและรูป เป็นเครื่องเทียบเคียงส่อแสดงให้รู้
11. ถ. ใจนั้นเกิดดับหรือไม่
ต. ใจที่เกิดปรากฏพร้อมกับนามและรูปนั้น มีอาการเหมือนเกิดดับตามนามรูป เพราะปรากฏมีขึ้นเมื่อนามรูปเกิดขึ้นและสูญหายไป เมื่อนามรูปแตกดับหายไป แต่ว่าถึงจะเกิดดับอย่างไร ๆ ใจก็คงเป็นใจอยู่อย่างนั้นเอง
12. ถ. นามรูปที่เกิดดับนั้นรู้แล้วยกไว้เสียที ว่าแต่ธรรมชาติที่เป็นใจอย่างเดียวเท่านั้น เกิดดับหรือไม่
ต. หมดปัญญาที่จะคิดเห็นว่าเป็นอย่างไร เพราะใจนั้นเป็นสิ่งที่ปราศจากอาการทั้งปวง, เป็นแต่รู้ได้ว่ามีอยู่ใน เวลาเมื่อรูปนามยังมีอยู่เท่านั้น
13. ถ. ใจของเรา และใจของผู้อื่นต่างกันอย่างไร
ต. เหมือนกันหมดทุกตัวสัตว์; จะต่างกันก็แต่ความรู้ความเห็นของใจที่อาศัยอวิชชาปรุงแต่งเท่านั้น
14. ถ. กายและใจเป็นตัวเราหรือมิใช่
ต. ไม่ใช่ กายนั้นเกิดดับผันแปร แปลกเปลี่ยนเสมอเป็นนิตย์ เหมือนดังฟองน้ำและพยับแดด จะว่าส่วนไหนเป็นตัวเราไม่ได้, และใจนั้นก็เป็นเหมือนดั่งน้ำและแสงแดด เป็นตัวประธานศูนย์กลางอยู่, จะกำหนดว่าเป็นตัวเราที่ตรงไหนก็ไม่ได้เหมือนกัน
15. ถ. ถ้าเช่นนั้นตัวเราไม่มีหรือ
ต. ถ้าจะว่ามีก็ต้องว่า ความรู้หรือความไม่รู้ที่ติดอยู่กับใจนั้นเอง
16. ถ. ความรู้และความไม่รู้อะไร
ต. ความรู้ธรรมดาตามเป็นจริงของกายและใจ, และความไม่รู้ธรรมดาเหล่านี้
17. ถ. รู้และไม่รู้มีคุณโทษต่างกันอย่างไร
ต. ถ้าไม่รู้แล้ว ก็ยึดถืออาการของใจที่ปรากฏรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นจริง, และอาดูรเดือดร้อนหรือรื่นเริงไปตามอาการเหล่านั้น ถ้ารู้แล้วก็เฉยได้ พ้นจากภัยทั้งปวงเป็นสุขอย่างยิ่ง
18. ถ. นามและรูปนั้นรู้แล้วว่าเกิดดับ, และใจนั้นก็บอกไม่ได้ว่า เป็นอย่างไร, ก็ความรู้และความไม่รู้เล่า เกิดดับหรือไม่
ต. ความรู้ไม่ดับ, แต่ความรู้และความไม่รู้นั้นอาจแปรผันกลับกลายเป็นความรู้ไปได้ด้วยการศึกษา
19. ถ. มีพยานอย่างไรว่าเป็นอย่างนี้
ต. มีพยานที่คนรู้หรือคนไม่รู้ ถึงจะรู้สึกตัวตื่นอยู่หรือหลับไปไม่รู้สึก, และจะเป็นอยู่หรือตายไปแล้ว ความรู้ความไม่รู้เป็นจริงอยู่เท่าใด ก็คงอยู่เท่านั้น, ไม่เปลี่ยนแปลงไปได้นอกจากการศึกษา
20. ถ. ไม่รู้นั้น คือ อวิชชา ที่เป็นเหตุให้สิ่งทั้งปวงกำหนดสมมติเกิดขึ้นจากใจ ใช่หรือไม่
ต. ใช่
21. ถ. สิ่งทั้งปวงกำเนิดสมมติที่เกิดขึ้นจากใจนั้น จริงหรือไม่จริง
ต. จริงเท่ากับฝันเห็น ถ้าพิจารณาตรวจตราดูแล้วก็จะเห็นว่าเปล่าทั้งนั้น ไม่เป็นแก่นสารอันใด ล้วนแต่เหลวไหลเหมือนหลอกกันเล่นให้ดีใจ และเสียใจ, ในที่สุดก็สูญหายไปหมด
22. ถ. อวิชชาอย่างเดียวเท่านั้นหรือเป็นเหตุให้สิ่งทั้งปวงเกิดแต่ใจ
ต. หามิได้ สิ่งทั้งปวงที่เกิดเองโดยธรรมดานิยมก็มี
23. ถ. ถ้าเช่นนั้นแปลกกันอย่างไร
ต. ที่เกิดเองนั้นไม่เป็นสัตว์ และไม่เป็นของๆ สัตว์ คงเป็นแต่ของกลางอยู่โดยปกติธรรมดา แต่ที่เกิดเพราะอวิชชาเป็นเหตุนั้นเป็นสัตว์และเป็นของๆ สัตว์, หรืออีกนัยหนึ่งที่เกิดเองนั้นเป็นอนัตตา, แต่ที่เกิดเพราะอวิชชานั้นเป็นอัตตา
24. ถ. ถ้าเช่นนั้นสิ่งทั้งปวงที่เกิดแต่ใจมิไม่เป็นประโยชน์อะไรๆ เลยหรือ
ต. เป็นประโยชน์สำหรับเป็นเครื่องเทียบ กระทำให้อวิชชาความไม่รู้ เป็นวิชชาความรู้ขึ้นมาได้
25. ถ. ถ้าสิ่งทั้งปวงรวมทั้งนามและรูปด้วย ล้วนเป็นของเหลวไหล เหมือนเขาหลอกเล่นไม่เป็นแก่นสารอันใด, ก็สิ่งใดเล่าจะเป็นแก่นสาร
ต. ใจกับความรู้ของใจเท่านั้นเป็นแก่นสาร, นอกจากนี้แล้วเหลวไหลหมด
26. ถ. ถ้าเช่นนั้นการงานที่กระทำกันอยู่ในโลกมิเหลวไหลไปหมดหรือ
ต. ถ้าการงานที่กระทำนั้นเป็นไปในทางไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน, และเกื้อกูลให้เกิดความรู้, ก็นับได้ว่าเป็นประโยชน์ไม่เหลวไหล ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป
27. ถ. การทำมาหาเลี้ยงชีพ, การป้องกันรักษาตัว และการสืบพืชพันธุ์ในโลกเหล่านี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ต. ถ้าเป็นไปพร้อมด้วยการศึกษาให้เกิดความรู้ก็เป็นประโยชน์; ถ้าเป็นไปเพื่ออย่างอื่นก็เหลวไหลหมด
28. ถ. จะเหลวไหลอย่างไร ? คนที่เขาประพฤติตนแสวงหาประโยชน์ในโลกได้รับความสุขสำราญ สมประสงค์และที่แสวงหาประโยชน์ผิดไปต้องถึงทุกข์ภัยก็มีอยู่จริงๆ มิใช่หรือ
ต. นอกจากเป็นอุบายเครื่องศึกษาให้เกิดความรู้แล้วเหลวไหลหมด, ถึงจะจริงก็เท่ากับฝันเห็น, ในที่สุดก็สูญหายไปหมดไม่มีอะไรเหลืออยู่
29. ถ. ถ้าเช่นนั้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสัตว์ก็ไม่จริงด้วยหรือ
ต. จริงเท่ากับฝัน, เพราะเป็นอาการอันเกิดแต่ใจ ซึ่งอาศัยอวิชชาปรุงแต่งให้เห็นไป
30. ถ. อันที่จริงนั้นสัตว์ไม่เกิดตายหรือ
ต. ข้อนี้สุดแล้วแต่จะคิดเห็นอย่างไร, ถ้าถือว่านามรูปเป็นสัตว์ ๆ นั้นตายแล้วก็สูญ ถ้าถือว่าความรู้หรือความไม่รู้เป็นสัตว์ ๆ นั้นเกิดมาแล้วก็ไม่ตายอีก, แต่ถ้าเป็นความไม่รู้ก็จะหลงถือผิดไปจนกว่าจะรู้ ถ้าถือว่าใจเป็นสัตว์ ๆ ก็เป็นอยู่ทุกเมื่อ แต่ก่อนหรือเดี๋ยวนี้หรือต่อไปภายหน้าก็ไม่ได้เคยเกิดหรือตายเลยจนหนเดียว
31. ถ. ใครเล่าที่เป็นผู้ยึดถือ และคิดเห็นไปต่างๆ
ต. ความไม่รู้หรืออวิชชาที่ติดอยู่กับใจนั้นแลเป็นผู้คิด
32. ถ. อวิชชานั้นคิดอย่างไร
ต. คิดเป็นวิปลาสไปต่าง
ยึดเอานามรูปที่มิใช่ตัวเป็นตัวบ้าง, ยึดเอาใจที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเป็นตัวบ้าง
ฝ่าฝืนต่อความจริง แล้วอาดูรเดือดร้อนไปด้วยไม่สมประสงค์หรือหลงเป็นสุขสำราญไปตามอาการของสภาวะ
ทั้งปวงที่เป็นต่างๆ
33. ถ. ยึดถือนามรูปเป็นตัวนั้นจะกล่าวว่าต้องอาดูรเดือดร้อนก็ชอบแล้ว เพราะนามรูปไม่เที่ยง, แต่ที่ยึดถือใจ ซึ่งเป็นสิ่งปราศจากอาการนั้น จะเดือดร้อนทำไม
ต. เพราะใจเป็นปรมัตถธรรม, และเป็นศูนย์กลางของสากลโลก ไม่ใช่ตัวไปยึดถือว่าเป็นตัวก็ขัดกับความเป็นจริง, จึงต้องเดือดร้อนและต้องแก้ไขความเห็นใหม่
34. ถ. ไม่แก้ความเห็นใหม่ไม่ได้หรือ
ต. ไม่ได้ เพราะความเห็นผิดเป็นของเท็จย่อมไม่เที่ยงอาจแปรผันต่อไปได้, เที่ยงอยู่แต่ความเห็นที่จริงแล้วเท่านั้น
35. ถ. จริงมีกี่อย่าง
ต. สองอย่าง
36. ถ. อะไรบ้าง
ต. จริงสมมติ, และจริงปรมัตถ์
37. ถ. จริงสมมติ, และจริงปรมัตถ์ ต่างกันอย่างไร
ต. ต่างกันที่สมมติเกิดแก่สัตว์เป็นมูลเหตุ, และปรมัตถ์เกิดแต่ธรรมดาเป็นมูลเหตุ
38. ถ. ความรู้ความเห็นจริงที่เที่ยงแท้ไม่แปรผันนั้นรู้อะไร
ต. รู้จริงของสมมติ และจริงของปรมัตถ์ตามสภาวะที่เป็นจริงว่ามีอย่างไร จนความวิปลาสต่างๆ ดับสูบไปหมดไม่เหลือ
39. ถ. ผู้ที่รู้จริงพ้นทุกข์แล้วหรือยัง
ต. เป็นแต่รู้จริงเท่านั้นก็แน่นอนที่จะพ้นแล้ว, แต่ถ้าถอนความเคยตัวในที่ผิดๆ เสียได้ด้วยแล้ว ก็พ้นทุกข์ทีเดียว
40. ถ. พ้นทุกข์แล้วไปอยู่ที่ไหน
ต. อยู่ที่ใจนั่นเอง
41. ถ. ทำไมอยู่ที่กายไม่ได้หรือ
ต. ไม่ได้: เพราะความรู้ก็ต้องอยู่ที่ใจ, ถ้าเห็นไปว่าอยู่ที่กายก็เป็นความเห็นที่ผิดวิปลาส ไม่รู้จริงอีก
42. ถ. เมื่อยังเป็นอยู่จะว่าอยู่ที่ใจก็พอฟังได้, แต่ถ้าตายแล้วจะอยู่กับใจอย่างไร
ต. ผู้นั้นเมื่อกายยังปรากฏมีอยู่ก็รู้ได้ว่าใจ, แต่เมื่อกายแตกทำลายแล้วใจนั้นก็ถึงซึ่งภาวะอันบัญญัติไม่ได้ว่าเป็นอะไรต่อไป, เพราะความไม่รู้ที่เป็นเครื่องปรุงแต่งอาการของใจให้เป็นอย่างไรๆ ก็ดับสูญสิ้นไปหมดแล้วด้วยอำนาจความรู้, ถึงใจจะเป็นอยู่ต่อไปอย่างไร ก็ย่อมไม่ปรากฏว่า เป็นอย่างไร เพราะปราศจากอาการ; และความรู้ที่พ้นทุกข์แล้วอยู่กับใจที่ไม่ปรากฏอาการเช่นนี้ก็ย่อมไม่ปรากฏอยู่เองเป็นธรรมดา
43. ถ. ใจที่ไม่ปรากฏดังว่านี้เกิดอีกหรือไม่
ต.ใจอย่างๆก็ไม่เกิดและไม่เคยเกิดทั้งนั้น, ที่เกิดนั้นเป็นแต่ความคิดและความรู้สึกหรืออาการของใจต่างหาก
44. ถ. ถ้าคนที่ไม่รู้ธรรมดาตามเป็นจริงหรือรู้ยังไม่สมบูรณ์ตายแล้วไปอยู่ไหน
ต. ก็อยู่ที่ใจเหมือนกัน
45. ถ. ถ้าเช่นนั้นจะต่างอะไรกับคนรู้
ต. ต่างกันที่คนรู้ไม่หลงถือผิด, แต่คนไม่รู้นั้นหลงถือผิดอยู่เสมอ, เหมือนดังคนตื่นและการนอนหลับนอนฝันอยู่ คนตื่นนั้นไม่หลงถือเรื่องฝันว่าเป็นจริง, แต่คนที่นอนหลับนั้นหลงยึดถือเรื่องราวต่างๆ ในฝันว่าเป็นจริงทั้งนั้น, และคนทั้งสองนี้ความรู้ก็อยู่กับใจเหมือนกัน, ต่างกันแต่ที่หลงกับไม่หลงเท่านั้น
46. ถ. เมื่อตายแล้วนามรูปก็แตกดับสูญไป,
ความหลงหรือความไม่รู้จะว่ายังคงอยู่ตามเดิมก็ตามแต่จะไปหลงยึดเอานามรูปที่ไหน
เป็นตัวได้อีกเล่า
ต. นามรูปย่อมอาศัยธรรมดานิยมมีกรรมเป็นต้น ปรุงแต่งให้เกิดมีอยู่เสมอ, เหมือนคลื่นและฟองน้ำในมหาสมุทร เมื่อความหลงยึดถือว่านามรูปเป็นตัวยังมีอยู่ตราบใดแล้ว, ก็มีนามรูปอื่นเกิดขึ้นให้ยึดถือ เป็นตัวแทนที่ต่อไปเสนอเป็นนิตย์
47. ถ. ถ้าเช่นนั้นเมื่อจะตายเลือกยึดถือเอาแต่นามรูปที่ดีๆ ตามชอบใจจะจะได้หรือไม่
ต. ไม่ได้, เพราะเป็นวิสัยธรรมดานิยมจะเลือกให้เฉพาะพอดีแก่เหตุชั่วหรือดี บุญบาปของสัตว์, เหมือนดังความฝันจะร้ายหรือดีก็เป็นไปตามเหตุที่ปรุงแต่ง จะเลือกเอาเองตามชอบใจไม่ได้เลย
48. ถ. เหตุดีและเหตุชั่วที่กระทำไว้อยู่ที่ไหน
ต. อยู่ที่ใจ
49. ถ. สำหรับทำอะไร
ต. สำหรับปรุงแต่งอาการของใจให้ยึดถือ หรือข้องอยู่ในผลวิบากที่เกิดแต่กรรมของสัตว์เป็นเหตุบ้าง, ที่เกิดแต่ธรรมดาเป็นเหตุบ้าง
50. ถ. เหตุที่เรียกว่าบุญบาป กับเหตุที่เรียกว่ากรรมต่างกันอย่างไร
ต. เหตุที่เรียกว่าบุญบาปนั้นติดอยู่ที่ใจ; แต่เหตุที่เรียกว่ากรรมของสัตว์นั้นเกิดขึ้นชั่วคราวปรุงแต่งผลวิบากแล้วก็ดับสูญไป
51. ถ. ธรรมดาเป็นเหตุปรุงแต่งผลวิบากอย่างไร
ต. สิ่งใดๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยกรรมของสัตว์แล้ว, ธรรมดาเป็นเหตุปรุงแต่งทั้งสิ้น
52. ถ. ธรรมดากับสัตว์ต่างกันอย่างไร
ต. ตรงกันข้าม, ธรรมดาเป็นผู้รู้ สัตว์เป็นผู้ไม่รู้, ธรรมดาเป็นจริง, สัตว์เป็นเท็จ, ธรรมดาเป็นถูก สัตว์เป็นผิด, ธรรมดาไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่เจ็บ ไม่ตาย, สัตว์ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย
53. ถ. ถ้าเช่นนั้นสัตว์ที่จริง, ที่ถูก, ที่รู้, และไม่เกิด, ไม่แก่, ไม่เจ็บ, ไม่ตาย มีหรือไม่
ต. มี, แต่ว่าความรู้ของสัตว์เช่นนี้เสมอด้วยความรู้ของธรรมดา หรือเป็นความรู้ที่เป็นอันเดียวกันกับความรู้ของธรรมดา
54. ถ. สัตว์ที่มีความรู้เสมอด้วยธรรมดาหรือสัตว์สำเร็จแล้วเช่นนี้, เมื่อสัตว์ตายแล้วยังจะรู้จะเห็น และทำประโยชน์อะไรต่อไปอีกหรือไม่
ต. รู้เห็นและทำประโยชน์อย่างธรรมดาต่อไปอีก
55. ถ. รู้เห็นและทำประโยชน์อย่างไร
ต. คือรู้โดยไม่ต้องคิด เห็นไม่ต้องมีตา ได้ยินไม่ต้องมีหู ทำอะไรๆ ล้วนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้โดยไม่ต้องมีอวัยวะร่างกายสำหรับทำ
56. ถ. บุญบาป หรือเหตุดีเหตุชั่ว ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร
ต. บาปเป็นเหตุปิดบังความรู้, และให้ข้องติดอยู่ในไตรภพ, บุญทำให้เกิดความรู้, และให้หลุดพ้นไป, หรือจะว่าบาปทำให้เป็นทาส บุญทำให้เป็นไทย ก็ได้
57. ถ. ทำบุญไปเกิดในสวรรค์ ไม่ข้องติดอยู่ในไตรภพแล้วหรือนั่นหลุดพ้นอะไร
ต. หลุดพ้นจากเกิดในนรก
58. ถ. ถ้าบาปไม่มีติดอยู่ในใจ มีแต่บุญอย่างเดียว, จะไปเกิดที่ไหน
ต. ไม่เกิดที่ไหนหมด คงเป็นแต่ความรู้ไปรวมอยู่กับธรรมดาเท่านั้น
59. ถ. ธรรมดากับใจต่างกันอย่างไร
ต. ต่างกันแต่ที่บัญญัติ
60. ถ. ถ้าเช่นนั้นเป็นสิ่งเดียวกันหรือ
ต. สิ่งใดๆ ที่ว่าเป็นธรรมดา, ถ้าตรวจดูให้ละเอียดแล้วก็จะเห็นได้ว่าออกจากใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าธรรมดากับใจ เป็นสิ่งเดียวกัน
61. ถ. ทำอย่างจึงจะพ้นทุกข์
ต. ต้องละบาป, บำเพ็ญบุญ, เจริญความรู้ให้สมบูรณ์ขึ้นในใจ
62. ถ. ควรจะทำอย่างไรเล่า
ต. 1. จงอนุเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่น เพื่อเขาได้เกื้อกูลตน
2. จงละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเจาจะได้ไม่เบียดเบียนตน
3. จงระวังรักษาใจอย่าให้เป็นบาป เพื่อจะได้สงบระงับอยู่ในบุญกุศล
4. จงสอดส่องพิจารณาดูสิ่งทั้งปวง ตามธรรมดาที่เป็นจริงอย่างไร เพื่อจะได้รู้เท่าทันไม่หลงถือผิด
63. ถ. ปฏิบัติเท่านี้พอละหรือ
ต. พอแล้ว ถึงจะปฏิบัติไปให้มากสักเท่าใด ๆ ใจความก็ลงเท่านั้นเอง
64. ถ. ท่านกล่าวแล้วแต่ข้างต้นว่า อะไรๆ ก็เป็นความรู้ที่ออกจากใจทั้งหมด, และเป็นเรื่องที่เหลวไหล เหมือนความฝันทั้งสิ้น ถ้าเช่นนั้น การละบาปบำเพ็ญบุญมิเหลงไหลเหมือนฝันด้วยหรือ
ต. ก็เหมือนฝันเห็นนั่นแหละ แต่ต้องเข้าใจว่าความฝันนั้นมีสองอย่าง คือ ฝันดีและฝันร้าย เป็นของเหลวไหลไม่จริงด้วยกัน ในที่สุดก็จะสูญหายไปด้วยกัน, แต่ถึงเช่นนั้นฝันดีก็ยังดีกว่าฝันร้าย เพราะกระทำให้เกิดสุขสำราญแก่ผู้ฝัน ฉันใดก็, การบำเพ็ญกุศล, แม้เป็นการที่เชื่อถืออาการรู้สึกของใจที่เป็นของชั่วคราวก็จริง แต่ก็ยังดีกว่าการกระทำบาป เพราะบุญเป็นเหตุกระทำผู้ปฎิบัติให้เป็นสุขและพ้นทุกข์ได้
65. ถ. คนทำบุญมีถมไป ทำไมจึงไม่พ้นทุกข์เล่า
ต. เพราะบาปก็กระทำด้วยจึงไม่พ้นทุกข์, แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้รับความสุขเป็นระวาง ๆ เสมอไป เพราะอำนาจบุญที่กระทำ
66. ถ. พ้นทุกข์ด้วยอะไรแน่ เพราะทำบุญหรือเพราะรู้เท่าธรรมดา
ต. เพราะทำบุญในเบื้องต้น รู้เท่าธรรมดาในที่สุด
67. ถ. ไม่ทำบุญจะพ้นทุกข์ได้หรือไม่
ต. ไม่ได้, เพราะบาปจะหมดสิ้นไปก็ด้วยการละบาปบำเพ็ญบุญ และความตรัสรู้จะมีจะเป็นได้ก็เพราะใจไม่มีบาป
68. ถ. ตรัสรู้อะไร
ต. รู้ธรรมดาของทุกข์ รู้ธรรมดาของเหตุแห่งทุกข์, รู้ธรรมดาของความดับทุกข์ และรู้ธรรมดาการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
69. ถ. รู้แล้วเป็นอย่างไรต่อไป
ต. รู้แล้วก็พ้นทุกข์ แต่ต้องรู้จริงๆ คือรู้แล้วใจต้องหลุดพ้นไปตามที่รู้ด้วย, ความรู้นั้นจึงจะเป็นของตน, ถ้าเป็นแต่รู้เรื่อง ใจไม่หลุดพ้น ความรู้นั้นก็เป็นของผู้อื่น แต่ตนเก็บเอามาคิดเท่านั้น
70. ถ.พ้นทุกข์มีกี่อย่าง
ต. สองอย่าง
71. ถ. อะไรบ้าง
ต. พ้นทุกข์ที่เกิดแต่ความหลงผิดอย่างหนึ่ง, พ้นทุกข์ที่เกิดแต่นามรูปอย่างหนึ่ง
72. ถ. คือเมื่อใจหลุดพ้นไปแล้ว จะพ้นแต่ทุกข์ที่เกิดจากความหลงผิด, ครั้นแล้วจึงจะพ้นทุกข์ที่เกิดแต่นามรูปกระนั้นหรือ
ต. หามิได้, จะตายหรือเป็นก็ตาม ย่อมพ้นทุกข์ทั้งสองนั้น เพราะเหตุที่ใจหลุดพ้นไปแล้ว ทุกข์ทั้งสิ้นก็พ้นไปจากใจด้วย
ที่หมายความว่า เมื่อตายแล้วจะพ้นทุกข์หมดสิ้นนั้นเป็นอันยอมรับว่า เมื่อยังไม่ตายยังไม่พ้นทุกข์ไม่สิ้นเชิง เมื่อเช่นนั้นจะว่าใจหลุดพ้นไม่ได้ คงรู้สึกรับทุกข์อยู่นั่นเอง แม้ตายไปแล้ว ความรู้สึกทุกข์ ก็คงติดเป็นความรู้สึกทุกข์อยู่อย่างนั้น เป็นอันไม่พ้นทุกข์ต่อไปได้อีก
73. ถ. เป็นทุกข์ก็ดี, พ้นทุกข์ก็ดี, และอะไรๆ ก็ดี รวมอยู่ที่ใจหมดไม่ใช่หรือ
ต. ถูกแล้ว, เพราะฉะนั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่าใจเป็นศูนย์กลางของไตรภพ อะไรๆ จะมีจะเป็นได้ต้องอาศัย เกิดแก่ใจทั้งสิ้น ผู้รู้ทั้งหลายย่อมรู้แน่นอนเช่นนี้, จึงอยู่เสียที่อันเป็นศูนย์กลาง ไม่ไปเที่ยวอยู่กับอะไร ๆ ที่เกิดอยู่ภายนอกใจ เหมือนดังผู้ที่ไม่รู้
74. ถ. ความรู้ที่ท่านเอามาอธิบายตอบปัญหาของข้าพเจ้าทุก ๆ ข้อนี้เอามาจากไหน
ต. เอามาจากใจ นั่นซี !
75. ถ. ความรู้ของใคร
ต. จะเป็นของใครบ้าง ก็เหลือวิสัยที่จะระบุให้แจ้งชัดได้, แต่บอกได้ว่าเป็นความรู้ของผู้รู้ทั้งหลายที่เคยเป็นอยู่ในโลกนี้ หลายร้อยหลายพันปีล่วงไปแล้ว และเป็นความรู้ของคนที่ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันบ้าง, แต่โดยมาเป็นความรู้นำสืบๆ กันมาทางพุทธศาสนา, และบรรดาความรู้ทั้งปวงนี้ ก็ไปรวมอยู่ที่ใจหมดสิ้น
76. ถ. ความรู้ของท่านเองไม่มีหรือ
ต. ข้าพเจ้าไม่อยากตอบในข้อนี้
77. ถ. ถ้าเช่นนั้น ขอถามว่าข้อเท็จจริงทั้งปวงที่ท่านตอบข้าพเจ้านั้น ท่านเชื่อว่าเป็นความจริงหรือ
ต. ข้าพเจ้าเชื่อว่าจริงแน่ทีเดียว
78. ถ. ความเชื่อของท่าน ไม่ใช่เป็นความเชื่อเรื่องฝันที่เหลวไหลดอกหรือ
ต. เป็นความเชื่อเรื่องฝันก็จริง, แต่ว่าเป็นประโยชน์ให้เกิดความรู้เท่าทัน เพื่อมิให้หลงผิดต่อไป
79. ถ. ถ้าถืออาการของใจที่เหลวไหลดังเรื่องฝันกล่าวว่าเป็นประโยชน์ก็ได้ เป็นโทษก็ได้ดังนี้แล้ว เมื่อเราพบปะตำรับตำราอะไร กระทำการงานสิ่งใด จะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสินว่าควรเชื่อถือและควรกระทำเพราะเป็นโทษ
ต. ต้องถือเอาประโยชน์เป็นเครื่องตัดสิน, แต่ต้องรู้เท่าทันเสมอว่า บรรดาความรู้สึกต่างๆ ของใจ ทั้งที่เป็นคุณและโทษ ย่อมเป็นของที่มีและเป็นแต่ชั่วคราวเท่านั้น
80. ถ. สนทนากันมาก็ช้านานแล้ว เลิกเสียทีจะดีกระมัง
ต. สาธุ ! สาธุ ! ดีแล้ว
ขอน้อมนมัสการ แก่ท่านผู้กระทำแสงสว่างแก่โลก
81.ถ.ช้าช้าก่อน,ขอถามต่อไปอีกหน่อย; ได้ยินว่าประเทศธิเบตเขามีคัมภีร์สอนลัทธิปฏิบัติวิธีลัดตรงไปสู่พระนิพพานได้เร็วพลัน ดียิ่งกว่าการปฏิบัติตามทางวินัย; ท่านเคยได้รู้เห็นเรื่องนี้หรือไม่
ต. ได้ยินได้ฟังบ้าง แต่จะให้ถี่ถ้วนไม่ได้ เพราะไม่ได้ยินไม่ได้ฟังจากศาสดาจารย์ในประเทศธิเบต เอง เป็นแต่ได้ยินได้ฟังเล่ากันสืบมาอีกขั้นหนึ่ง
82. ถ. เอาเถิด, ท่านรู้อย่างไรก็เล่าสู่กันฟังอย่างนั้นก็แล้วกัน
ต. ถ้าเช่นนั้นก็ได้ซี ขอให้ท่านตั้งใจฟังที่จะเล่าต่อไปนี้ :-
คัมภีร์ที่กล่าวนี้ ชื่อว่าคัมภีร์ตันตระสอนข้อปฏิบัติอย่างลัดตรงไปสู่พระนิพพาน ชาวธิเบตทั้งหลายเชื่อว่าเป็นคำสอนอย่างลับของพระพุทธเจ้า สำหรับสอนบุคคลที่มีความสามารถจะปฏิบัติตามได้เฉพาะแต่น้อยคน
ส่วนคำสอนที่เป็นวินัยปฏิบัติ และลัทธิของปฏิบัติอย่างอื่นนั้นสำหรับสอน
สาธารณชนหมู่มากทั่วไป ที่มาของคัมภีร์ตันตระนั้นบางอาจารย์กล่าวว่าภายหลังแต่พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว
พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกนี้อีก ด้วยพระสัมโภคะกาย
และได้ทรงประดิษฐาน
คัมภีร์ตันตระนี้ไว้ แต่บางอาจารย์กล่าวว่า พระพุทธองค์เสด็จกลับมาสู่โลกนี้อีกเพื่อเปิดเผยหนทางลัดตัดตรงสู่พระนิพพาน
โดยทรงถือเอาพระชาติกำเนิดเป็นอาจารย์เจ้ามีนามว่า คุรุปัทมะสัมภะวะ
แต่ถึงจะแตกต่างกันไปอย่างไรก็ดี, ชาวธิเบตทั้งหลายย่อมเชื่อถือ
และเห็นพ้องพร้อมกันว่า ข้อปฏิบัติตามคัมภีร์ตันตระนี้ประเสริฐวิเศษกว่าวินัยบัญญัติยิ่งนัก
ลัทธิวิธีปฏิบัติตันตระนั้น เป็นความลับปิดบังกันอย่างลึกซึ้งในระหว่างครูกับศิษย์
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ลักษณะสามัญของการปฏิบัตินั้นพอจะรู้กันได้บ้าง เป็นตันว่าการปฏิบัติชั้นที่
1 เรียกว่าชั้นอุปะ ในชั้นนี้ผู้เป็นศิษย์ต้องกระทำการกราบไหว้นมัสการรูปพระโพธิสัตว์เจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
สุดแต่ครูจะเลือกให้เพื่อขอให้มาเป็นที่พึ่งช่วยพิทักษ์รักษา และเป็นนิทัศน์แบบอย่าง
วิธีทำการเคารพต่อพระโพธิสัตว์นั้น ต้องกระทำหลายอย่าง บางทีต้องออกแรงกายจนเหน็ดเหนื่อย
และการทำความเคารพวันหนึ่งหลายร้อยครั้ง หลาย ๆ วัน หลาย ๆ เดือน และบางทีถ้าครูเห็นควร
ก็ถึงหลาย ๆ ปี จนกว่าครูจะเห็นว่าศิษย์ของตนมั่นคงดีแล้ว ควรเลื่อนชั้นที่สอง
เรียกว่า
ชั้นกิริยะต่อไป
ในชั้นกิริยะนี้ ผู้เป็นศิษย์ต้องภาวนาระลึกถึงคุณของพระโพธิสัตว์เจ้าผู้เป็นที่พึ่งแห่งตน
แสดงความอ่อนน้อมภักดีต่อองค์พระโพธิสัตว์,ปฏิบัติตามพระคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์เจ้า
ด้วยหัวใจ และคิดเห็นว่าพระโพธิสัตว์นั้นท่านอยู่เหลือเศียรเกล้าแห่งตน ตนอยู่ภายให้องค์พระโพธิสัตว์
เป็นทาสรับใช้พระองค์ เป็นผู้จงรักภักดีพระองค์อย่างอุกฤษฏ์
เมื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาดังว่านี้หลายๆเดือนหรือหลายๆปี
สุดแล้วแต่ครูจะเห็นสมควรว่าจะใช้เวลาช้านานเพียงไร ผู้เป็นศิษย์นั้นก็จะได้รับพิจารณาเลื่อนขึ้นชั้นที่สามเรียกว่าชั้นโยคะ
ในชั้นนี้ผู้เป็นศิษย์ต้องระลึกถึงพระโพธิสัตว์ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนจนรู้สึกว่าตน
จมหายลงไปในองค์ของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่แห่งมหากรุณาธิคุณ ซึ่งแต่เดิมมาคิดเห็นว่าเป็นภายนอกต่างหากจากตนแล้วคิดเห็นด้วยใจต่อไปว่า
พระโพธิสัตว์กับตนไม่ผิดเพี้ยนกันอย่างใด พระคุณสมบัติทั้งหลายของพระโพธิสัตว์นั้นก็ปรากฏมีในตนทั้งสิ้น
ต่อไปนี้ก็ถึงชั้นที่สุดของการปฏิบัติซึ่งมีน้อยคนที่สุดจะปฏิบัติถึง
คำสอนในชั้นนี้เชื่อว่าผู้ที่เป็นศิษย์ชั้นต้น ๆ คงไม่ได้คาดหมายเลยว่าเป็นอย่างไร
ถ้ารู้ล่วงหน้าก่อนว่าครูจะสอนอย่างไรแล้ว ศิษย์โดยมากก็คงจะพากันละทิ้งครูเสียด้วยความเบื่อหน่ายและฉงนสนเท่ห์ในคำ
สอนเป็นแน่แท้
การปฏิบัติตันตระชั้นที่สุดนี้เรียกว่า อนุตตระในชั้นนี้
ครูจะสอนศิษย์ให้รู้ว่าพระโพธิสัตว์ที่ศิษย์ได้ยึดถือเอาเป็นที่พึ่งกระทำการนอบน้อมนมัสการ
ภายนอกด้วยกายและภาวนาระลึกถึงคุณสมบัติภายในด้วยใจนั้น หาได้มีจริงไม่ เป็นแต่ความคิดเห็นที่ออกไปจากใจของศิษย์เองเท่านั้น
ความจริงข้อนี้ครูมิได้แพร่งพรายให้ศิษย์ได้รู้เลย จนกว่าจะเห็นว่าศิษย์ได้เพียรปฏิบัติมาช้านานหลายปีด้วยความจงรักภักดี
และความเชื่อถือในครูจริงๆ และทั้งมีความมั่นคงสามารถประจักษ์แจ้งแล้วว่าสมควรจะรับคำสอนชั้นสูงสุดได้
เมื่อศิษย์ได้รับคำสอนดังว่ามานี้แล้วก็เกิดความเข้าใจชัดว่า แม้แต่พระโพธิสัตว์ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่แห่งสากลโลกซึ่งเป็นอัครคุรุสถานที่เคารพอันสูงสุด
ก็ยังเป็นสักแต่ว่าความคิดเห็นออกไปจากใจเท่านั้น และสำมะหาอะไรกับสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นสัตว์และสังขารทั่วไปทั้งสากลโลก
ซึ่งเป็นวัตถุที่เลวทรามกว่าพระโพธิสัตว์เจ้านั้นจะไม่เป็นสักแต่ว่าความคิดเห็นออก
ไปจากใจเหมือนกันเล่า ?
เมื่อศิษย์ผู้มีญาณจักษุจับตัวจริงได้ ว่าใจปรุงแต่งสิ่งทั้งปวงทั่วไปทั้งสากลโลก
ประดุจภาพยนตร์ อันวิชาธรนิรมิตให้ปรากฏเป็นไปฉะนั้น แล้วแต่นั้นก็สละความถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
เสียได้ แล้วสงบนิ่งอยู่ ลักษณะวิธีปฏิบัติตันตระโดยย่อก็จบลงแต่เพียงนี้
84. ถ. ทำไมครูจะสอนศิษย์ให้รู้ถึงชั้นอนุตตระแต่แรกทีเดียวไม่ได้หรือ
ต. ไม่ได้ ถ้าสอนอนุตตระทีเดียวแล้ว อนุตตระก็จะไม่เป็นอนุตตระ เพราะศิษย์ไม่อาจเห็นจริงตามคำสอนได้ นอกจากจะได้ปฏิบัติเทียบเคียงโดยลำดับชั้น
มาแต่เบื้องต้น
83. ถ. คำสอนแห่งคัมภีร์ตันตระนี้ ตรงกับแก่นไตรภพหรือไม่
ต. ตรงกันดิ่งทีเดียว
84. ถ. เลิกสนทนากันเสียทีเถิดหรือ
ต. เลิกเถิด ! แต่อย่าลืมหนา อะไร ๆ มันก็ออกไปจากใจทั้งสิ้น แล้วก็สูญหายไปหมด เหลือแต่ใจที่รู้เท่าหรือไม่รู้เท่าเท่านั้น
ถ. สาธุ ! สาธุ ! สาธุ ! ดีแล้ว
นโม นม นิรฺวฤต นรฺช รายฺ
ขอนอบน้อมนมัสการแด่ท่านผู้ดับสนิทไม่มีความคร่ำคร่า
จบ เจนเรียนรอบรู้ ศึกษา
แก่น โลกแก่นธรรมา พบแล้ว
ไตร รัตน์จักเกิดปรา กฎที่ ใจแฮ
ภพ ชาติขาดหลุดแคล้ว คลาดพ้นบ่วงมาร
--------------------------------------