สัตว์โลกใครเป็นผู้สร้าง
คำตอบจากนางพุทธสาวิกา วชิราภิกษุณี

---------------------------------------------------------

สิ่งที่ควรกำหนดรู้

มารได้มาตั้งปัญหาถาม พุทธสาวิกา วชิราภิกษุณีว่า

"สัตว์นี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน
สัตว์บังเกิดขึ้นในที่ไหน และสัตว์ดับไปในที่ไหน"

นางได้ตอบแก่มารว่า "ดูก่อนมาร เพราะเหตุใดหนอความเห็นของท่าน
จึงหวลกลับว่าสัตว์ แท้จริงในกองสังขารเหล่านี้ มิได้ชื่อว่าสัตว์เลย"

"นี่แนะ มารผู้โง่เขลา เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนประกอบทั้งหลายเข้า
รถย่อมมีฉันใด เมื่้อขันธ์ทั้งหลายมาประชุมกันอยู่ การสมมุติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น"

นางได้ตอบแก่มารต่อไปว่า

ทุกฺขเมว พิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ
นาฌฺฌตฺร ทุกฺขาสมฺโภติ นาฌฺฌตฺร ทุกฺขานิรูชฺฌติ

(สุ.สํ. สคาถวรรค ๑๕/๑๑๙)

"ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ"

มารได้ฟังเช่นนั้น ก็เกิดความอายหายวับไปทันที

ตามนัยดังที่กล่าวมานี้ มีอรรถาธิบายว่า มารที่มีความเห็นผิดไปว่า สัตว์นี้ ใครเป็นผู้สร้าง
ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์เกิดที่ไหน และสัตว์ดับไปในที่ไหนนั้น เป็นความเห็นที่เกิดมาจากอำนาจ
ของอุปาทานเป็นส่วนมาก เพราะเหตุที่ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ มีอยู่ ความสำคัญผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็น
สัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เราเขาจึงมี เมื่อความเห็นผิดในสัตว์มีอยู่ จึงเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิดต่อไป
อีกว่า ใครเล่าเป็นผู้สร้างสัตว์ขึ้น และผู้สร้างสัตว์นั้นสถิต ณ แดนใด ใคร่ทราบ

ศาสดาผู้เห็นผิด จึงลิขิตคำสอนขึ้นว่า สัตว์นี้พระพรหมเป็นผู้สร้าง หรือพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ที่สถิตของพระ
พรหมและพระเจ้านั้น อยู่ ณ ทิศเบื้องบน สัตว์ผู้ยากไร้อนาถา ทอดทิ้งการสวดอ้อนวอนสวามิภักดิ์ต่อพระ
พรหมและพระเจ้า ย่อมไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า และจะกลายเป็นผู้กำพร้าในที่สุด

เพื่อต้องการละ "สมัญญา" ประจำโลกว่า สัตว์ และ บุคคล เสีย เพื่อการก้าวล่วงความหลงว่าเป็นสัตว์
เพื่อขจัดเมฆหมอกแห่งอวิชชา ที่ปิดบังดวงปัญญาให้หมดไปจากจิต จะขอสาธกหยิบยกเอาคำอุปมา
เปรียบเทียบให้เข้าใจ เพราะวิญญูชนทั้งหลายย่อมทราบความนั้นชัดด้วยคำอุปมา

เหมือนอย่างว่า เพราะอาศัยทัพพสัมภาระต่างๆ อาทิเช่นเพราะอาศัยเพลา อาศัยล้อ อาศััยตัวถัง
และอื่นๆ มาคุมกันเข้า แ้ล้วเราก็บัญญัติกันว่ารถ ฉันใด เพราะอาศัย กระดูก อาศัยเอ็น อาศัยเนื้อ
อาศัยหนัง อาศัยโกฏฐาส ทั้งหมดมาประชุมกัน อาศัยเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มาประชุม
กันเข้า การสมมุติว่าเป็นสัตว์ ก็เกิดขึ้นฉันนั้น

แท้ที่จริงแล้วคำว่ารถหามีไม่ คือเมื่อมาพิจารณาแยกเอาทัพพสัมภาระเหล่านั้นออกไปแล้วก็จักไม่
พบคำว่า "รถ" เลย ฉันใดก็ดี บัณฑิตทั้งหลายได้พิจารณาแยกแยะ อัตภาพอันได้สมัญญาว่า กระดูก
เอ็น เนื้อ หนัง โกฏฐาส เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณออกไปแล้วก็จะไม่พบคำว่า สัตว์ ว่าบุค
คล ตัวตน เราเขา ฉันนั้น

โดยปรมัตถธรรมแล้ว หามีสัตว์มีบุคคล ตัวตน เราเขาไม่ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะความโง่
เขลา เบาปัญญา จึงไม่เข้าใจในสภาวธรรมเหล่านั้น เมื่อไม่เข้าใจจึงเกิดความเห็นที่ผิด เมื่อมี
ความเห็นผิด ก็เกิดความยึดถือที่ผิด เช่น

ความเห็นว่าสัตว์มีอยู่ ผู้ที่มีความเห็นผิดคล้อยตามในความเห็นนั้น ย่อมตกไปในฝ่าย "สัสสตทิฏฐิ"
คือเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งมวล เที่ยงแท้ ยั่งยืน ความเห็นว่าสัตว์ไม่มี ผู้ที่มีความเห็นคล้อยตามความ
เห็นเช่นนั้น ย่อมตกไปในฝ่าย "อุจเฉททิฏฐิ" คือ เห็นว่าสรรพสิ่งทั้งมวลย่อมขาดสูญ

ความเห็นทั้งสองนี้ เป็นความเห็นที่สุดโต่ง ไม่เป็นมัชฌิมา ในทางพระพุทธศาสนา พระองค์มิได้
สอนเช่นนั้น

ผู้มีความเห็นว่าเที่ยง ย่อมเป็นไปด้วยความเฉื่อยชา ผู้มีความเห็นว่าขาดสูญ ย่อมเป็นไปด้วยความ
ฟุ้งซ่าน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดาและมนุษย์ถูกความเห็นทั้งสองนี้กลุ้มรุมแล้ว
พวกหนึ่ง ย่อมท้อถอย เฉื่อยชา พวกหนึ่งย่อมดิ้นรนฟุ้งซ่าน

ก็ความท้อถอยเฉื่อยชา เป็นไฉนเล่า

ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ ที่มีความมุ่งหมาย ยินดีในภพอันไม่มีความสลายเหล่านั้น เมื่อได้ฟัง
ธรรมอันเราแสดงเพื่อความดับภพ สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่สนใจ ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ย่อมท้อถอยเฉื่อยชาดังนี้

ภิกษุทั้งลาย เทวดาและมนุษย์ ที่มีความเกลียดชังในภพภูมิต่างๆ ยินดีในความขาดสูญ เมื่อได้ฟัง
ธรรมอันเราแสดง ถึงความมีอยู่แห่งภพภูมิต่างๆ เธอย่อมฟุ้งซ่าน พล่านไปในอารมณ์ต่างๆ ดุจคน
วิกลจริตฉะนั้น

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นขันธ์ปัญจกชึ่งมีจริง โดยความเป็นขันธ์ปัญจกที่มีจริง
ครั้นเห็นขันธ์ปัญจกอันเป็นของจริงดังนี้แล้ว เธอย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย หมายจาก
เพื่อความเหินห่าง เพื่อดับขันธ์ปัญจกอันเป็นของจริงเหล่านั้นเสีย

ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีปัญญาจักษุ ย่อมเห็นอย่างนี้"

แท้ที่จริงในโลกนี้มีแต่รูปนามเท่านั้น หามีสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขาไม่ รูปนามเหล่านั้น ย่อมว่าง
เปล่าจากสัตว์ จากบุคคล ตัวตน เราเขา ซึ่งถูกสร้างขึ้นดุจเครื่องยนต์โดยนายช่างคือตัณหา และเป็น
ที่ตั้งแห่งทุกข์ เพราะมีความระส่ำระสายอยู่เป็นนิตย์

ด้วยเหตุดังอภิปราายมานี้ จึงหามีสัตว์เกิด หรือใครๆ เกิดไม่ หามีสัตว์เป็นอยู่หรือใครๆ เป็นอยู่ไม่
หามีสัตว์ดับหรือใครๆ ดับไปไม่ มีแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ก็การเกิดขึ้นแห่งขันธ์นั้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เล่า ท่านสาธุชน

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ชาติปิทุกฺขา" แปลว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ท่านหมายถึงการอุบัติขึ้นของขันธ์
๕ นั่นเองเป็นตัวทุกข์ ขันธ์ ๕ ที่กำลังเป็นไปอยู่ ก็คือทุกข์นั่นเอง ที่เป็นไปอยู่ ขันธ์ ๕ ที่แตกดับไป
ก็คือทุกข์นั่นเองที่แตกดับไป ท่านจึงกล่าวว่า นอกจากทุกข์หามีอะไรเกิด นอกจากทุกข์หามีอะไร
ตั้งอยู่ นอกจากทุกข์หามีอะไรดับไปไม่

ใครเล่าเป็นผู้ยังให้ทุกข์เกิด ท่านกล่าวว่าตัณหานั่นเองเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เมื่อดับเหตุคือตัณหา
เสียได้ ทุกข์ย่อมดับ โดยอาศัยมัคคปฏิปทา ที่พระบรมศาสดาได้วางไว้

ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า "ยถาภูตญาณทัสสนะ" คือ เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงดังนี้
___________________________

กิตติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ
คณะ ๒๕ มหาธาตุฯ พระนคร

ธรรมบรรณการโดยผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

___________________________________________________________
พิมพ์ที่ ร.พ. ส.พยุงพงศ์ จำกัด ร.ร.ฟู่เจิ้ง ถนนสี่พระยา สงวน พยุงพงศ์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ๐๖